“ไซนัสอักเสบ” โรคใกล้ตัว ที่ไม่ใช่เพียงแค่อาการหวัด
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็นไข้หวัดกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โอกาสที่จะทำให้เป็นหวัดสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ โดยอาการของการเป็นหวัดหลัก ๆ ก็คือ อาการคัดจมูก มีน้ำมูก และจะเป็นติดต่อกันไม่นานนัก
แต่หากว่าเป็นติดต่อกันนานกว่า 10 วัน ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าไม่ใช่แค่อาการเป็นหวัดธรรมดา แต่อาจจะเป็น “ไซนัสอักเสบ” ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าโรคนี้คืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง จึงจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพราะหากว่าเป็นหวัดจะได้สังเกตอาการของตัวเองได้ว่า จริง ๆ แล้วเป็นแค่หวัด หรือเป็นไซนัสอักเสบกันแน่
ไซนัสอักเสบ คืออะไร
ไซนัสอักเสบ คือ การอักเสบ และการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่ไซนัส และเยื่อบุจมูก โดยเมื่อมีการติดเชื้อที่บริเวณนี้ ในโพรงไซนัสก็จะมีอาการบวม ส่งผลให้ร่างกายจะสร้างน้ำมูกขึ้นมาในโพรงจมูก เมื่อมีอาการหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือว่าภูมิแพ้บ่อย ๆ บริเวณโพรงไซนัสจะเกิดการอุดตันจนทำให้มีอาการอักเสบตามมา
ซึ่งน้ำมูกเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการเติบโตของเชื้อโรค และในที่สุดเมื่อเยื่อบุอักเสบ และเป็นหนองขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดเป็นไซนัสอักเสบตามมาได้ นอกจากนี้แล้ว การที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่รากฟัน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้ เนื่องจากว่ากระดูกที่อยู่คั่นระหว่างไซนัสกับรากฟันบางมากนั่นเอง
ไซนัสอักเสบสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ตามระยะเวลาของการลุกลามและการฟื้นตัว ดังนี้
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นร่วมกับการเป็นหวัด และจะอักเสบด้วยระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์
ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 4 – 12 สัปดาห์
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่องในระยะเวลาประมาณ 12 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถพบได้บ่อยจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้
ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน (Recurrent) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในระยะเวลามากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี แต่ละครั้งที่มีอาการขึ้นมา ก็กินเวลานานกว่า 10 วัน
อาการของไซนัสอักเสบ เป็นอย่างไร
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า ไซนัสอักเสบ เป็นอาการที่คล้ายกับการเป็นหวัดมาก ๆ แต่จะมีอาการที่แตกต่างอยู่ประการ ดังนี้
– มีอาการคัดจมูก แม้ว่าจะทานยารักษาแล้วก็ตาม
– มีน้ำมูกไหล และเสมหะสีเหลืองหรือเขียว
– มักจะปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบ หรือบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการมึนศีรษะร่วมด้วย
– บางรายที่เป็นมาก จะรู้สึกเหมือนกับว่าได้กลิ่นเหม็นในจมูก
– มีไข้สูง จนทำให้หนาวสั่น
– มีอาการไอแบบเรื้อรัง
– ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดไซนัสมาก ๆ ในช่วงที่เพิ่งตื่นนอน
– ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการตาอักเสบร่วมด้วย
แนวทางการรักษาไซนัสอักเสบ
ในการรักษาไซนัสอักเสบ แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากประวัติของผู้ป่วย โดยเฉพาะหากว่าเป็นไซนัสที่เกิดแบบเรื้อรัง มักจะมีอาการที่ไม่ชัดเจนนัก ทำให้จำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยเพิ่มเติมเข้ามาช่วย เพื่อตรวจดูการอักเสบของไซนัส ซึ่งในการรักษานั้นสามารถหายขาดได้ในไซนัสอักเสบบางชนิด บางชนิดแม้จะรักษาแล้วแต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีก
วิธีการรักษาไซนัสอักเสบสามารถทำได้จากวิธีดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยยา โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ถือเป็นการรักษาขั้นเริ่มต้น ที่แพทย์จะทำการจ่ายยาปฏิชีวนะให้ตามความรุนแรงของโรค และชนิดของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งจะจ่ายให้ประมาณ 5 – 10 วัน นอกจากนี้หากว่าเป็นไซนัสประเภทเรื้อรัง แพทย์อาจจะพิจารณาให้รักษาด้วยสเตียรอยด์ผสมน้ำเกลือล้างจมูก หรือด้วยสเตียรอยด์พ่นจมูก
การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยวิธีการรักษานี้แพทย์จะพิจารณาก็ต่อเมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่รักษาไม่หายจากการรักษาด้วยยา หรือในกรณีที่ผู้ป่วยกลับมาเป็นไซนัสอักเสบบ่อย ซึ่งในปัจจุบันนี้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่านจมูกเข้าไป ถือเป็นวิธีการที่ปลอดภัย และได้ผลดี อีกทั้งผู้ป่วยจะไม่มีบาดแผลในบริเวณใบหน้าที่ผ่าตัดด้วย ที่สำคัญยังใช้ระยะเวลาการฟื้นตัวเพียงแค่ 3 – 5 วันเท่านั้นเอง
วิธีการป้องกันให้ห่างไกลจากการเป็นไซนัสอักเสบ
แน่นอนว่าการเป็นโรคนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ การเป็นไซนัสอักเสบเองก็เช่นกัน การหาวิธีป้องกันจะช่วยให้ลดโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งหากว่าไม่อยากเป็นไซนัสอักเสบก็ควรปฏิบัติตัวดังนี้
– ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานให้ตรงเวลา
– ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนมากกว่า 2 แก้วต่อวัน
– พยายามดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัด และมีความมัน
ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า ไซนัสอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัด นั่นจึงหมายความว่า ไซนัสอักเสบไม่ใช่โรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยง หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ทั้งนี้หากพบว่ามีอาการอักเสบจากการติดเชื้อที่มาจากเชื้อราลุกลามไปยังเนื้อเยื่อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้น เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง หรือภาวะแทรกซ้อนทางตา ก็อาจจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากเป็นหวัดติดต่อกันนานเกิน 7 – 10 วันแล้ว และสงสัยว่าจะเป็นไซนัสอักเสบ ก็ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทางด้านหู คอ จมูก เพื่อให้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยโรค และทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป